Group Decision Support Systems-GDSS



ประเภทของ GDSS
GDSS มีหลายประเภท การนำไปใช้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์การ ที่อยู่ของผู้ตัดสินใจ และชนิดของการตัดสินใจ ในที่นี้แบ่งเป็น 4 ประเภท (Stair & Reynolds, 1999)

1) แบบห้องการตัดสินใจ (Decision room) ห้องการตัดสินใจจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ผู้ตัดสินใจอยู่ในห้องเดียวกัน หรืออยู่ในบริเวณเดี่ยวกัน และจัดให้คนเหล่านี้มาอยู่รวมกันในห้องเดียวกัน โดยห้องจะมีลักษณะเป็นห้องประชุมซึ่งมีเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจ เช่น จอภาพใหญ่ที่ใช้แสดงสารสนเทศต่างๆ และมีเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำที่นั่งของผู้เข้าร่วม ประชุมโดยโต๊ะอาจทำเป็นรูปตัวยู (U-shaped)

2) การตัดสินใจโดยใช้เครือข่ายวงแลน (Local Area Decision Network) เครือข่ายการตัดสินใจแบบนี้ใช้เมื่อกลุ่มผู้ตัดสินใจอาศัยอยู่ในกลุ่มเดียว กัน หรือบริเวณใกล้เคียงกัน และต้องทำการตัดสินใจบ่อยๆ ส่วนประกอบเหมือนแบบแรก แต่จะมีกล้องวีดีโอเพื่อจะถ่ายภาพการอภิปรายของห้องหนึ่งและถ่ายทอดไปยังอีก ห้องหนึ่ง รวมทั้งมีเครือข่าย ในการเชื่อมโยงข้อมูลกันโดยอาจใช้วงแลน (Local Area Network) ถ้าห้องไม่อยู่ห่างไกลกันมาก เพื่อที่จะทำให้ผู้ตัดสินใจในแต่ละห้องสามารถใช้สารสนเทศพร้อมๆ กันได้

3) การประชุมทางไกล (Teleconferencing) เป็นการจัดประชุมทางไกล ในกรณีที่ไม่ได้มีการตัดสินใจบ่อยครั้ง และผู้ตัดสินใจอยู่ไกลกัน การประชุมจะมีการเชื่อมโยง กับห้องการตัดสินใจแบบ GDSS หลายห้องซึ่งอาจจะ อยู่คนละประเทศหรือคนละมุมโลกก็ได้ วิธีการแบบนี้ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง

4) เครือข่ายการตัดสินใจ WAN (Wide Area Decision Network) เป็นเครือข่ายการตัดสินใจในกรณีที่การตัดสินใจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และผู้ตัดสินใจอยู่ห่างไกลสถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้มีการใช้ GDSS โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายแบบ WAN

ประโยชน์ของ GDSS ที่มีต่อการประชุมมีดังนี้ (Grobowski et al., 1990; Nunamaker et al.,1991)

1) ทำให้การมีส่วนร่วมในการประชุมเพิ่มขึ้น เพราะผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความเห็นได้พร้อมกัน ไม่จำเป็นต้องแสดงความเห็นทีละคน จึงทำให้การใช้เวลาในการประชุมมีประสิทธิภาพมากกว่าการประชุมแบบดั้งเดิม

2) สร้างบรรยากาศของความร่วมมือ กล่าวคือ ความเห็นหรือข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงออกไป GDSS จะไม่เปิดเผยชื่อ ดังนั้นสมาชิกจึงสามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระโดยเฉพาะเมื่อมีสมาชิกมี สถานะแตกต่างกันมาเข้าประชุมด้วยกัน จึงทำให้แรงกดดันทางสังคมในที่ประชุมลดลง

3) การประเมินมีลักษณะเป็นวัตถุวิสัยมากขึ้น (Evaluation Objectivity) การไม่เปิดชื่อของผู้แสดงความคิดเห็นทำให้การวิจารณ์เป็นไปได้โดยไม่มีอคติ ต่อแหล่งที่มาของข้อมูลและช่วยกระตุ้นความเห็นใหม่ๆ ระหว่างกระบานการประเมินผลด้วย

4) ช่วยให้มีการเข้าถึงแหล่งข้อมูลภายนอกได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดปัญหาข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการมีข้อมูลไม่ตรงกัน

5) ผลของการประชุมมีการบันทึกไว้ และสามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับการประชุมของชุดอื่นได้ ทำให้เกิดการสร้างความจำขององค์การ (Organization memory) ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์การได้ ดังนั้น

GDSS จะช่วยทำให้การประชุมมีประสิทธิภามากขึ้นดีกว่าการประชุมที่พบหน้ากัน (face-to-face meeting) โดยเฉพาะการประชุมที่เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องมีการ เสนอความคิดใหม่ๆ หรือปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน และการประชุมที่มีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตามประโยชน์ที่จะได้รับจาก GDSS ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น ลักษณะของกลุ่มวัฒนธรรมองค์การ และลักษณะปัญหาที่นำเสนอต่อกลุ่ม